ปัจจุบันเราสามารถจดทะเบียนบริษัทผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เพื่อประกอบการตัดสินใจวันนี้ผมมีข้อดีของการจดบริษัทแบบออนไลน์มาฝากครับ
- ค่าธรรมเนียมถูกกว่าจดแบบปกติ ตั้งแต่ปี 2564 กระทรวงพาณิย์ได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ลงเหลือเพียง 2,750 บาท จากอัตราเดิม 5,500 บาท เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2566 ทำให้การจดทะเบียนบริษัทผ่านช่องทางออนไลน์เป็นที่นิยมของเจ้าของกิจการ
- ลดความเสี่ยงในการกรอกแบบฟอร์มผิด กรอกแบบฟอร์มไม่ครบถ้วน เนื่องจากหากจดบริษัทออนไลน์หากเรากรอกไม่ครบถ้วนระบบจะไม่ให้กรอกเอกสารลำดับต่อไป ซึ่งหากเป็นการจดแบบปกติ เราอาจจะต้องเสียเวลาในการตรวจสอบเอกสารที่เรากรอกว่าครบถ้วนหรือไม่
- สามารถกำหนดได้ว่าอยากให้บริษัทจัดตั้งวันไหน ข้อนี้ถูกใจสายมูครับ โดยเราสามารถเข้าไปกรอกข้อมูลก่อนวันที่เราต้องการให้ทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและผู้ก่อการยืนยันตัวตนให้เรียบร้อยก่อนวันที่เราต้องการ แล้วเราทำการจ่ายเงินในวันที่เราต้องการ แค่นี้ วันจดทะเบียนจัดตั้งก็เป็นไปตามฤกษ์งามยามดี เหมาะแก่การเริ่มต้นธุรกิจ
- เมื่อจดแบบออนไลน์แล้วสามารถคัดเอกสารต่าง ๆ ผ่านทางออนไลน์ได้เลย ไม่ต้องไปถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เช่น หนังสือรับรองบริษัท หนังสือบริคณห์สนธิ บอจ 2 บอจ 3 บอจ 5 ผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้เลย โดยหลังจากบริษัทชำระค่าธรรมเนียม เพียง 1 – 2 ชั่วโมง บริษัทสามารถเข้าไปดาวน์โหลดเอกสารเป็นไฟล์ได้ทันที หรือจะขอรับเอกสารทางไปรษณีย์ หรือให้จัดส่งโดยเจ้าหน้าที่กรมพัฒน์ก็สามารถทำได้
- ลดเวลาในการติดต่อราชการ ข้อนี้ผมชอบมากเป็นพิเศษ โดยจากเดิมผู้ทำการจดบริษัทจะต้องเสียเวลาเดินทางไปยื่นเอกสารที่กรมพัฒน์เอง ซึ่งใช้เวลาในการรอคิว อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่เอกสารจะไม่เรียบร้อยซึ่งจะต้องมาจัดเตรียมเอกสารเพิ่มเติมแล้วเดินทางไปใหม่อีกรอบซึ่งทำให้เสียเวลาในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ ซึ่งการจดทะเบียนบริษัทผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถยื่นเรื่องได้จากที่บ้าน 24 ชั่วโมง อีกทั้งเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารและแจ้งให้แก้ไข หรือเพิ่มเติมเอกสารผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่า
สามารถแก้ไขผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่าย โดยหากกิจการต้องการแก้ไขรายละเอียดต่างๆ เช่น เปลี่ยนวัตถุประสงค์กิจการในกรณีกิจการอาจขยายธุรกิจไปทำธุรกิจอื่นภายใต้บริษัทเดิม หรือกรณีเปลี่ยนผู้มีอำนาจในการลงนาม ผู้ประกอบกิจการสามารถแจ้งแก้ไขผ่านช่องทางออนไลน์ในเวปไซต์ e-registration ได้ทันที ซึ่งหากกิจการมีการจดบริษัทโดยไปจดเป็นเอกสารที่กรมพัฒน์ ในการแก้ไขเอกสารในภายหลังกิจการก็จะต้องไปยื่นเรื่องแก้ไขเอกสารที่กรมพัฒน์ด้วยเช่นกัน